เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส1
ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ
[12] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (1)
คำว่า พระองค์ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล อธิบายว่า
ตัณหาตรัสเรียกว่า เหตุให้หวั่นไหว ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ2
ตัณหาเหตุให้หวั่นไหวนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่าไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
เพราะพระองค์ทรงละตัณหาเหตุให้หวั่นไหวได้แล้ว จึงชื่อว่าผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่น
ไหว พระผู้มีพระภาคไม่ทรงหวั่นไหว คือ ไม่ทรงสะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน
ไม่สั่นสะท้าน เพราะได้ลาภ เพราะเสื่อมลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง
เพราะสรรเสริญ เพราะนินทาบ้าง เพราะสุข เพราะทุกข์บ้าง รวมความว่า พระ
องค์ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว

ว่าด้วยกุศลมูลและอกุศลมูล 3
คำว่า ผู้มีปกติเห็นมูล อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีปกติเห็นมูล คือ
ทรงเห็นเหตุ ทรงเห็นต้นเหตุ ทรงเห็นการเกิดขึ้น ทรงเห็นแดนเกิด ทรงเห็นสมุฏฐาน
ทรงเห็นอาหาร ทรงเห็นอารมณ์ ทรงเห็นปัจจัย ทรงเห็นเหตุเกิด

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/1050-1055/533-534
2 ดูรายละเอียดที่ข้อ 2/50-51

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :83 }